ถั่งเช่ากับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

โรคของระบบภูมิคุ้มกันและการต้านอนุมูลอิสระ

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คือระบบที่คอยปกป้องร่างกายของเราจากสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่อาจเข้ามาทำอันตรายเราได้ไม่ว่าจะเป็นเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส ปรสิต พยาธิ รวมถึงสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ เช่น เซลล์ที่กำลังเจริญเติบโตไปเป็นมะเร็ง อวัยวะของผู้อื่นที่ปลูกถ่ายเข้ามาในร่างกาย การได้รับเลือดผิดหมู่ สารก่อภูมิแพ้ ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายของเรายังไม่รู้จักซึ่งเรียกรวมว่า แอนติเจน (Antigen) ซึ่งเมื่อร่างกายรับเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่กระแสเลือดร่างกายจะสร้างสารแอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมาเพื่อจับกับสิ่งแปลกปลอมนั้น ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่ร่างกายใช้สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค

ร่างกายของเรามีขั้นตอนต่าง ๆ ในการป้องกันการติดเชื้อขั้นแรกคือผิวหนังของเราเป็นด่านแรกที่ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ถ้าเชื้อโรคฝ่าด่านนี้เข้ามาได้ ระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Innate immune system) จะทำงานต่อทันทีแต่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น เวลาเกิดบาดแผล เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ที่ผิวหนังก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เพราะมีอาหารอันอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมพอเหมาะ ทำให้เกิดการอักเสบเป็นหนอง หากเป็นแผลเล็กๆ ระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดเชื้อออกไป เพียงล้างแผลให้สะอาด รักษาแผลให้แห้ง ก็หายเป็นปกติได้เอง หรือการไอช่วยขับไล่สิ่งแปลกปลอมที่เราสำลักเข้าไปในหลอดลมและปอด หากสิ่งแปลกปลอมทำให้เกิดการระคายเคืองมาก เราก็ยิ่งไอนานไอจนกว่าจะหลุดออกมา เป็นต้น ร่างกายมนุษย์มีคุณสมบัติชั้นที่สามารถปรับระดับการป้องกันที่เรียกว่า Adaptive immune system หรือ Acquired immunity system เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อชนิดของเชื้อโรค มีการจดจำเชื้อโรคที่เข้ามาตั้งแต่ครั้งแรก และการตอบสนองครั้งต่อไปจะรุนแรงขึ้น เพราะจะมีการปรับเตรียมร่างกายให้ตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรคที่จะเข้ามาในภายหลัง เมื่อเชื้อโรคเข้ามาภายในร่างกายก็จะพยายามกำจัดเชื้อโรคเหล่านั้นทันที (ระบบภูมิคุ้มกันแบบนี้เป็นพื้นฐานของการทำวัคซีนนั่นเอง)

การตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันแบบจําเพาะเจาะจงจริง ๆ แล้วก็มีที่มาจากการถูกกระตุ้นของระบบภูมิคุ้มกันที่ติดตัวมาแต่กําเนิด ไม่ว่าจะเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่าง ๆ ที่สามารถกินสิ่งแปลกปลอม (Phagocytes) หรือที่เรียกว่าเซลล์นักฆ่า ตามธรรมชาติเซลล์เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่เฉพาะตัวแตกต่างกัน แต่ทว่าทํางานสอดประสานกันอย่างเป็นระบบ ดังนี้

1. Granulocyte เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่มี granule อยู่มากมายในเซลล์ ส่วนใหญ่อยู่ในกระแสเลือด แบ่งย่อยได้เป็น neutrophil นิวเคลียสมี 2-5 พู มีหน้าที่ทําลายสิ่งแปลกปลอมด้วยวิธีกลืนกิน (Engulf) Eosinophil นิวเคลียสมี 2 พู มีหน้าที่ทําลายสิ่งแปลกปลอม และยับยั้งการสร้างสารก่อภูมิแพ้ basophil มีนิวเคลียส รูปร่างเป็นรูป s หรือ m มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เลือดแข็งตัว และไม่หลั่งสาร Histamine ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้

2. Agranulocytes เป็นเม็ดเลือดขาวชนิดที่ไม่มี granule ในเซลล์ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ใหญ่ คือ Monocyte และ Lymphocyte (B-lymphocyte และ T-lymphocyte)

2.1 Monocyte เป็นเม็ดเลือดขาวที่มีจํานวนน้อยในกระแสเลือด มีหน้าที่กินเชื้อโรคในกระแสเลือดและเก็บกินซากที่เกิดจากการทําลายเชื้อโรค Macrophage เป็น Monocyte ที่อยู่ในเนื้อเยื่อ กระจายอยู่ในอวัยวะต่าง ๆ เมื่อกิน Antigen เข้าไปแล้วจะทําหน้าที่เป็น Antigen presenting cell (APC) คือส่งสัญญาณจาก antigen ต่อมาให้เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T lymphocyte เพื่อรับหน้าที่ต่อไป Dendritic cell มีหน้าที่เช่นเดียวกับ macrophage

2.2 Lymphocyte เป็นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันที่ทําหน้าที่เข้มแข็งที่สุด แบ่งตามหน้าที่เป็น 3 ชนิด คือ

T helper (Th cell) เป็นเม็ดเลือดขาว T cell ที่มีความสําคัญในการสร้างสมดุลของภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อได้รับสัญญาณจาก APC มันจะถูกกระตุ้นให้กลายเป็น T cell ที่มีความว่องไว (Sensitized T cell) มีอานุภาพสูงขึ้น และหลั่งสารมากมายหลายชนิดออกมาจากเซลล์ cytokines เพื่อกระตุ้นเซลล์ชนิดต่างๆในระบบภูมิคุ้มกัน ให้เพิ่มจํานวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทําลายเชื้อโรคซึ่งภูมิคุ้มกันที่สมดุลในร่างกายขึ้นอยู่กับความสมดุลของ Th cell 3 ชนิด คือ Th1 Th2 และ Th17

1. Th1 คือ Th cell ที่เกิดจากการกระตุ้นจาก เชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส เซลล์มะเร็ง สามารถหลั่งสาร Interferon gamma และ Tumor necrosis factor alpha ที่ทําให้เม็ดเลือดขาวนักฆ่าจับกินสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้ดีขึ้น

2. Th2 คือ Th cell ที่เกิดจากการกระตุ้นจากสารก่อภูมิแพ้ ปรสิต พยาธิ สามารถหลั่งสาร IL-4 IL-5 IL-10 และ IL-13 ที่กระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil และ B cell ให้สร้าง Antibody เพื่อจัดการกับสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น Th1 และ Th2 สามารถยับยั้งการทําหน้าที่ซึ่งกันและกันได้ อาการภูมิแพ้ และอาการแพ้ภูมิตัวเองที่เกิดจาก Th2 มากเกินสมดุล จึงแก้ไขได้โดยการเพิ่ม Th1

3. Th17 คือ Th cell ที่สามารถหลั่งสาร IL-17 ที่กระตุ้นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด Phagocytes ให้กําจัดสิ่งแปลกปลอมที่เหลือจากการจัดการโดย Th1 และ Th2 

T suppressor มีหน้าที่ทําลายเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม อีกทั้งยับยั้งการทํางานของเซลล์ภูมิคุ้มกันเมื่อหมดความจําเป็นแล้ว ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายต่อร่างกายจากการทํางานที่เกินเลยของระบบภูมิคุ้มกัน 

Natural killer T cell (NK T Cell) หรือ Cytotoxic T cells เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาว T cell ที่เป็นนักฆ่าตามธรรมชาติที่ทําลายสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคที่มีภูมิหรือมีสารอื่นอยู่ที่ผิว เพื่อบ่งบอกว่าเป็นสารแปลกปลอม เซลล์นี้จะไม่ทําลายเซลล์ปกติของร่างกาย

จะเห็นว่าเซลล์เหล่านี้ทํางานประสานกันอย่างดีเยี่ยม เพื่อรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันไม่มากไปหรือน้อยไปจนเกิดความเสียหายตามมา

Cytokine ทําหน้าที่ในการสื่อสารระหว่างเซลล์สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นโดยจะออกฤทธิ์ต่อเซลล์เป้าหมายโดยจับกับตัวรับ (Cytokine receptor) ที่อยู่บนผิวเซลล์นั้นๆ แล้วกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในเซลล์เช่น IL-2 (Interleukin คือสารที่ทํางาน ระหว่างเม็ดเลือดขาว) กระตุ้น B cell โดยไปจับกับ IL-2R (Interleukin-2 receptor) ที่อยู่บนผิว B cell เป็นต้น cytokine เป็นโมเลกุลที่เซลล์ใช้ติดต่อสื่อสารกันเช่น T cell สร้าง Cytokine ไปกระตุ้นให้ Macrophage สร้างสารทําลายจุลชีพที่อาศัยภายในเซลล์มากขึ้นหรือไปกระตุ้น B cell ให้พัฒนาและสร้าง antibody ต่าง ๆ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าในขั้นตอนต่างๆ ตั้งแต่กระบวนการสร้างและพัฒนาเซลล์ การทํางานประสานกันระหว่าง Innate immune response และ Adaptive immune response ดังนั้นการที่ CMI response ช่วย Hl response หรือ innate immune response หรือแม้กระทั่งการกระตุ้นให้เซลล์ทําลายจุลชีพภายในเซลล์ก็มี Cytokine เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น

ปัจจุบัน ข้อมูลทางการแพทย์พบว่า เม็ดเลือดขาวชนิด mononuclear cell ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เมื่อนํามาแยกเพาะเลี้ยง และกระตุ้น ด้วย Cytokine บางชนิด ทําให้เม็ดเลือดขาวดังกล่าวมีความสามารถในการทําลายเซลล์มะเร็งได้ เรียกเม็ดเลือดขาวที่ถูกกระตุ้นว่า Cytokine-induced killer cell (CIK) ซึ่งเป็นเซลล์ในกลุ่มของ Cytotoxic T lymphocyte ทําลายเซลล์เป้าหมาย โดยอาศัยกลไกแบบ Non major histocompatibility complex อีกทั้งเมื่อฉีด CIK กลับเข้าในตัวผู้ป่วย ยังสามารถทําลายเซลล์มะเร็งในตัวผู้ป่วย ทําให้การเป็นซ้ำของโรคและ/หรือ การกําเริบของโรคน้อยลง และทําให้ผู้ป่วยมีโอกาสในการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น

ถั่งเช่ากับภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ยาที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันจะใช้ในการเรียกคืนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เข้าสู่ภาวะปกติ และเพื่อลดอุบัติเหตุและการติดเชื้อที่คุกคามชีวิต ส่วนยากดภูมิคุ้มกันเป็นยาที่ถูกนํามาใช้เพื่อช่วยกดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ปรับเปลี่ยนภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบของอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่าย ในกรณีร่างกายปฏิเสธการปลูกถ่ายอวัยวะ (Taylor และคณะ 2005) มีหลักฐานที่เพิ่มขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นว่าถั่งเช่าสามารถเป็นทั้งตัวเพิ่มและตัวกดภูมิคุ้มกัน โดยปรับภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กําเนิดและภูมิคุ้มกันแบบจําเพาะเจาะจง (Li และ Tsim 2004 ; Ng และ Wang 2005 ; Feng และคณะ 2008 ; Zhou และคณะ 2009a)

ถั่งเช่ากับภูมิคุ้มกันของระบบทางเดินอาหาร

ระบบทางเดินอาหารมีบทบาทสองบทบาทในสรีรวิทยาของมนุษย์ นั่นคือการย่อยอาหารและการดูดซึมของสารอาหารและการบํารุงรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ระบบทางเดินอาหารร่วมกับเนื้อเยื่อน้ำเหลือง (GALT : Gastrointestinal-associated lymphoid tissue) ประกอบด้วย Peyer’s patches (ต่อมน้ำเหลืองเล็กๆ หลายต่อมในผนังของลําไส้เล็ก) และ GALT อื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่รวมตัวกันในไส้ติ่ง ลําไส้ใหญ่ และหลอดอาหาร ต่อมทอนซิล และต่อมอะดีนอยด์ (เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่เหนือต่อมทอนซิล) ใน GALT จะประกอบไปด้วย Macrophages, dendritic cell, B cell และ T cell ใน GALT มีทั้งการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กําเนิดและที่มาจากการปรับตัวทํางานร่วมกัน ในการรักษาสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันของ GALT (Huffnagle และ Noverr 2008) แม้ว่าถั่งเช่าสกัดจากน้ำร้อนจะไม่มีผลกระทบ โดยตรงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ Salmonella sp. Escherichia coli และ Lactobacillus sp. แต่มันช่วยให้ประชากรแบคทีเรียที่เป็นอันตราย (Salmonella sp. และ E. coli) ลดลงอย่างมีนัยสําคัญ และเพิ่มจํานวนแบคทีเรีย Lactobacillus sp. ที่เป็นประโยชน์ในลําไส้เล็กของลูกไก่ที่ได้กินถั่งเช่าในอัตรา 600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม/วัน เป็นเวลา 35 วัน (Koh และคณะ 2003a) ผลการศึกษาพบว่าถั่งเช่าควบคุมแบคทีเรียในลําไส้โดยการปรับปรุง GALT หรือระบบภูมิคุ้มกันหรือทั้งสองอย่าง

การทดลองให้หนูถีบจักรสายพันธุ์ ICR กินสารสกัดจากถั่งเช่า ที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลา 7 วัน พบการกระตุ้นการทํางานของ macrophage ในช่องท้องและ Peyer’s patch cells ที่มีการเพิ่มขึ้นของ GM-CSF (Granulocyte-macrophage colony-stimulating factor เป็นปัจจัยเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่ช่วยกระตุ้นเซลล์ต้นกําเนิดในการผลิต Granulocytes หรือเม็ดเลือดขาวที่มี granule เช่น Neutrophil seosinophils และ basophils และ monocytes จึงเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน) และ IL-6 (Interleukin-6 สร้างจาก Macrophage กระตุ้นการอักเสบ เพิ่มจํานวนของ B cell) (Koh และคณะ 2002)

ทั้งนี้ macrophages ใน GALT ทําหน้าที่เหมือนเครื่องป้องกันภัยจากเชื้อแบคทีเรียโดยการกลืนกินและฆ่าเชื้อโรคใดๆ ที่ผ่าน lamina propria เข้ามา (เป็นวัสดุบุผิวชั้นที่เป็นเยื่อเมือกในท่อต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร) (Macpherson และคณะ 2002) ดังนั้นถั่งเช่าจึงช่วยส่งเสริมการทํางานของ macrophages ใน GALT (Koh และคณะ 2002) สารสกัดถังเช่าช่วยเพิ่มการหลั่งของ IL-2 (Interleukin-2 กระตุ้นการแบ่งเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันภายหลังการติดเชื้อ) และ IFN-γ จาก Th1 cell ภายในต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง (MLN : Mesenteric lymphnode) นอกจากนี้หนูที่มีการอักเสบภายใน MLN ที่ได้กินสารสกัดถั่งเช่าเป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ามีความเข้มข้นของ IgE ในเลือด เม็ดเลือดขาวใน MLN IL-4 และ IL-10 ลดลง ขณะที่ การผลิต lgA เพิ่มขึ้น เป็นการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ต้านการอักเสบโดยปรับสมดุลของระบบภูมิคุ้มกัน ผ่านการควบคุมการผลิต Immunoglobulin และ cytokine จากเซลล์เม็ดเลือดขาวใน MLN (Park และคณะ 2008) นอกจากนี้ถั่งเช่ายังช่วยควบคุมระบบภูมิคุ้มกันในลําไส้เล็ก โดยการกระตุ้นกิจกรรมของเม็ดเลือดขาว Tcell ใน Peyer’s patch (Koh และคณะ 2002 ; Yu และคณะ 2003) โดยสรุปจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ถั่งเช่ามีผลกับภูมิคุ้มกันทั้งที่มีมาแต่กําเนิดและภูมิคุ้มกันแบบเฉพาะเจาะจง นอกจากนี้ยังมีผลในการปรับภูมิคุ้มกันของลําไส้ ซึ่งอาจมีผลต่อระบบการทํางานของภูมิคุ้มกันต่อไป

สารต้านอนุมูลอิสระ Antioxidant

อนุมูลอิสระ (Free radicle) คือ โมเลกุลที่มีธาตุที่ไม่เสถียร เนื่องจากขาดอิเล็กตรอน ไป 1 ตัว อนุมูลอิสระจึงเป็นสารพิษต่อเซลล์ร่างกาย ถ้ามีมากในเซลล์ก็เป็นอันตรายได้โดยจะทําลาย ดีเอ็นเอ เยื่อหุ้มเซลล์ มีผลต่อการอักเสบ และการทําลายเนื้อเยื่อในระยะสั้น ในระยะยาวอาจมีผลต่อความเสื่อมหรือการแก่ของเซลล์ และอาจเป็นสารก่อมะเร็ง โรคหัวใจ และต้อกระจก เป็นต้น อนุมูลอิสระมีที่มาทั้งแหล่งภายนอกร่างกาย ได้แก่ มลพิษในอากาศ โอโซน ไนตรัสออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารที่มีกรด ไขมันไม่อิ่มตัว หรือธาตุเหล็กมากกว่าปกติ แสงแดด ความร้อน รังสีแกมม่า ยาบางชนิด เช่น doxorubicin, penicillamine และ paracetamol เป็นต้น และแหล่งภายในร่างกายได้แก่ ROS (Reactive oxygen species) ซึ่งมีมูลเหตุจากออกซิเจน เป็นต้น ตัวอย่างของอนุมูลอิสระได้แก่ O2-Superoxide anion, OH-Hydroxyl radicle, ROO Peroxy radicle, H2O2 Hydrogen Peroxide ฯลฯ ร่างกายก็มีกลไกที่จะกำจัดอนุมูลอิสระ (antioxidant) ได้ 2 วิธี คือ ใช้ เอนไซม์ต่าง ๆ ในร่างกายเช่น Superoxide dismultase (SOD) และใช้สารที่มีคุณสมบัติเป็นรีดิวซิ่งเอเจน ได้แก่ วิตามินอี Beta carotene และวิตามินซี เป็นต้น

ถั่งเช่าออกฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ

อนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายเนื่องจากมีมูลเหตุจากออกซิเจน (ROS) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่ามีทั้งสองบทบาทในระบบชีวภาพ เนื่องจากสามารถเป็นได้ทั้งคุณและโทษต่อสิ่งมีชีวิต (Valko และคณะ 2004) โดยปกติ ROS ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเผาผลาญออกซิเจนตามธรรมชาติ และมีบทบาททางสรีรวิทยาในการส่งสัญญาณของเซลล์ แต่ความเข้มข้นของ ROS สามารถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่สิ่งแวดล้อมเกิดความเครียด เช่น การสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) หรือความร้อนที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อไขมันโปรตีนและกรดนิวคลีอิกของเซลล์ โครงสร้างของเซลล์ ที่ได้รับความเสียหายเป็นต้นเหตุที่นําไปสู่โรคต่าง ๆ เช่น ความชรา โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคปอดอักเสบ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ความผิดปกติที่มีการทําลายของเซลล์ประสาทในสมอง (Rahman 2003; Zhong 2006; Valko และคณะ 2007) ได้มีงานวิจัยเพิ่มเติมว่าถั่งเช่ามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในกลไกที่อยู่เบื้องหลังการชะลอความชรา ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ต้านการสะสมไขมันที่หลอดเลือด และปรับสมดุลการทํางานต่อภูมิคุ้มกัน (Ji และคณะ 2009)

ในการทดสอบ Oxidase xanthine (Xanthine oxidase assay เป็นการทดสอบความเข้มข้นของ uric acid ในกระแสเลือดโดยกลไกคือ Xanthine oxidase ซึ่งเป็น enzyme ทําหน้าที่เปลี่ยน hypoxanthine ไปเป็น xanthine และเปลี่ยน xanthine ไปเป็น Uric acid เอนไซม์นี้ยังมีบทบาทสําคัญในการสลายสารอาหาร (catabolism) ของ Purines ในสิ่งมีชีวิตบางชนิดรวมทั้งมนุษย์) การเหนี่ยวนําเพื่อทดสอบภาวะเม็ดเลือดแดงแตก (Induction of hemolysis assay) และทดสอบ Lipid-peroxidation (Lipid-peroxidation assay เป็นการ ตรวจวัดระดับของ Malondialdehyde หรือ MDA ซึ่งเป็นสารพิษที่ทําลายโครงสร้างโปรตีนและรหัสพันธุกรรม และยังจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง (Li และคณะ 2002) มีรายงานผลที่แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นสารสกัดถั่งเช่าโดยใช้น้ำ (Li และคณะ 2001 ; Yu และคณะ 2006 ; Dong และ Yao 2008) หรือเอทธิลแอลกอฮอล์ (Wang และคณะ 2005 ; Won และ Park 2005 ; Ra และคณะ 2008) ต่างก็มีศักยภาพในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สําคัญในการทดลองที่ได้กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตามสารสกัดจากน้ำแสดงผลยับยั้งที่ดีกว่าสารสกัดจากเอทธิลแอลกอฮอล์ต่ออนุมูลอิสระ Superoxide anions and hydroxyl radicals (Yamaguchi และคณะ 2000a) นอกจากนี้ทั้งถั่งเช่าจากธรรมชาติและจากการเพาะเลี้ยง ต่างก็มีศักยภาพในการต้านอนุมูลอิสระโดยตรง จากการตรวจโดยใช้หลอดทดลอง เช่น การทดสอบ Lipid-peroxidation, 1, 1-diphenyl-2-picrylhydrazyl (DPPH) และการทดสอบ Protein-peroxidation ดังนั้นถั่งเช่าจากการเพาะเลี้ยงสามารถนํามาใช้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อทดแทนถั่งเช่าจากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว (Li และคณะ 2001; Yu และคณะ 2006; Dong และ Yao 2008)

ถั่งเช่าออกฤทธิ์ในการต้านความชรา

สําหรับการทดสอบสรรพคุณของถั่งเช่าด้านการชะลอความชราได้มีการทดสอบกับคนชรา พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระ SOD เพิ่มการทํางานขึ้น (Superoxide dismutase เป็นเอนไซม์ที่ช่วยกําจัดอนุมูลอิสระที่พบว่ามีอยู่ในร่างกายแต่แรกเกิด แต่จะมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น) และลดการเพิ่มขึ้นของสาร MDA (Malondialdehyde เป็นสารพิษที่ทําลายโครงสร้างโปรตีนและรหัสพันธุกรรม และยังจัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็งในการทดลองในหนูอีกด้วย) ในการทดลองในสัตว์พบว่าถั่งเช่าช่วยซ่อมแซมดีเอ็นเอที่เสียหายได้ด้วย (Zhang และคณะ 1997) ถั่งเช่าที่สกัดโดยใช้น้ำและเอทธิลแอลกอฮอล์สามารถยับยั้งการสร้าง MDA ผ่านอนุมูลไฮดรอกซิลที่เกิดจาก peroxynitrite SIN-1 และหยุดยั้งการเกิดออกซิเดชันของไขมันชนิดไม่ดี (LDL) และการสะสมของคอเลสเตอรอล (Yamaguchi และคณะ 2000a,b) ต่อมา Tsai และคณะ (2001) ได้แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมต้านอนุมูลไฮดรอกซิลของสารสกัดถั่งเช่า (ออกซิเดชั่นเป็นปฏิกริยาของการแย่งหรือสูญเสียอิเล็กตรอนของเซลล์หรือเนื้อเยื่อทําให้เสื่อมสภาพไป)

การศึกษาถึงผลของถั่งเช่าต่อการเรียนรู้ ความจําและความชรา โดยศึกษาจากการวัดปริมาณ ดี-กาแลคโตส (d-galactose น้ำตาลบำรุงสมอง) กับหนูที่ทําหมันแล้วพบว่าถั่งเช่าช่วยการปรับปรุงการทํางานของเอนไซม์ Superoxide Dismutase, Glutathione Peroxidase และ Catalase และลดระดับของการเกิด Lipid peroxidation และกิจกรรม Monoamine oxidase ในหนูที่มีอายุมาก ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าถั่งเช่าสามารถปรับปรุงการทํางานของสมองและการทํางานของเอนไซม์ ต้านอนุมูลอิสระในหนูที่มีการเสื่อมสภาพของ ดี-กาแลคโตสที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าถั่งเช่าสามารถแก้ไขความบกพร่องในการเรียนรู้และต้านความชราได้ (Ji และคณะ 2009)

ถั่งเช่าช่วยบำรุงไต

ไตเป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วแดงอยู่ส่วนล่างของช่องท้อง เป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะหน้าที่ซึ่งเด่นชัดมากที่สุดของไต คือ กรองเอาของเสีย น้ำ และเกลือแร่ส่วนเกินจากเลือดที่ไหลผ่านไป แล้วขับออกในรูปของปัสสาวะ ทำให้เกิดการรักษาสมดุลระหว่างน้ำกับเกลือแร่ในร่างกาย ไตจะขับของเสีย เช่น ยูเรียและแอมโมเนียม และยังทำหน้าที่ดูดน้ำ กลูโคสและกรดอะมิโนกลับ นอกจากนั้นไตยังมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ด้วย เช่น การกระตุ้นวิตามินดี (Vitamin D) เพื่อช่วยควบคุมระดับแคลเซียมในร่างกาย การสร้างฮอร์โมนอีริโทรพอยอิทิน (Erythropoietin) เพื่อกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง และการหลั่งเอนไซม์เรนิน (Renin) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต ดังนั้น จะสังเกตได้ว่าหากไตทำงานน้อยลงมักเกิดปัญหาความดันโลหิตสูงและโลหิตจางร่วมด้วย

ทางมูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทยได้รวบรวมปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคไตไว้ดังนี้คือ

1. กรรมพันธุ์ โรคไตบางชนิดเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ เช่น โรคไตเป็นถุงน้ำ (Polycystic Kidney Disease) ที่มีทั้งแบบที่เกิดกับทารกซึ่งมักจะทำให้เด็กเสียชีวิตตั้งแต่เกิด และแบบที่เกิดกับผู้ใหญ่ที่จะพบความผิดปกติเมื่ออายุ 20-30 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคไตจากกรรมพันธุ์ก็พบน้อยมากแต่ถ้ามีใครคนหนึ่งในครอบครัวเป็นโรคไตขึ้นมาโอกาสที่เครือญาติพี่น้องจะเป็นด้วยก็มีสูงถึง 90% ดังนั้นในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคไต จำเป็นที่จะต้องไปตรวจสุขภาพกันทั้งครอบครัว

2. โรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงจะส่งผลกระทบต่อไตด้วย หากเป็นนาน ๆ ไตก็เสื่อมลง จนถึงขั้นไตวายเรื้อรัง ผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรัง ราว 30-50% ล้วนเกิดจากมีความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น และในทำนองเดียวกันคนที่เป็นโรคไตบางชนิดก็อาจเป็นโรคความดันโลหิตสูงตามมาเช่นกัน

3. โรคเบาหวาน ถือเป็นสาเหตุของโรคไตวายเรื้อรัง เพราะผู้ที่เป็นเบาหวานมานานแล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่หลอดเลือดของไตทำให้มีสารแขวนลอยปนออกมากับปัสสาวะ นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่าปกติทำให้เกิดกรวยไตอักเสบได้ หากเป็นบ่อย ๆ นาน ๆ เข้า ก็ทำให้ไตอักเสบไตวายแล้วยังมีผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมาด้วย

4. ความอ้วน เพราะคนอ้วนจะมีเมตาบอลิซึมสูงกว่าคนปกติ ทำให้เกิดของเสียต่าง ๆ มากขึ้น ดังนั้น ไตที่เป็นอวัยวะกรองของเสียก็จะทำงานหนักขึ้นตามไปด้วย

5. อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้น สังขารร่างกายก็ร่วงโรยไปตามวัยเช่นเดียวกับ ไตที่จะเริ่มเสื่อมตั้งแต่อายุ 35 ปี เท่ากับว่ายิ่งอายุมากขึ้นไตก็จะยิ่งเสื่อมตามอายุไปด้วยโดยเฉพาะผู้สูงอายุเพศชายมีโอกาสที่จะพบปัญหาต่อมลูกหมากโตสูงขึ้น ทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดตันและส่งผลกระทบต่อไตได้

6. อาหาร อาหารบางชนิดที่หากรับประทานเข้าไปมาก ๆ จะยิ่งเป็นอันตรายต่อไต เช่น อาหารรสเค็มจัดที่จะไปทำให้ความดันโลหิตสูงแล้วส่งผลกระทบต่อไปที่ไต รวมทั้งอาหารกลุ่มโปรตีนที่มีงานวิจัยพบว่าเนื้อสัตว์บางชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแปรรูปและใส่สารเคมีเพื่อให้เก็บได้นานขึ้นถือเป็นของเสียในร่างกาย หากทานเข้าไปมาก ๆ จะมีของเสียเหลือตกค้างในร่างกายมาก ทำให้ไตที่มีหน้าที่กรองของเสียทำงานหนักมากขึ้น ดังนั้นควรเลือกบริโภคโปรตีนจากเนื้อปลา หรือไข่ขาวเพราะเป็นโปรตีนคุณภาพสูงและย่อยง่าย

7. ยา ยาที่ไม่ส่งผลดีต่อไตนัก เช่น ยาแก้ข้อกระดูกอักเสบ (พวก NSAID) ที่ทำให้เกิดไตวายได้ รวมทั้งสารทึบรังสีบางชนิดที่ใช้ฉีดผู้ป่วยเวลาตรวจทางเอกซเรย์ก็มีผลให้ไตวายได้เช่นกัน ดังนั้นหากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง

8. อาชีพและอุบัติเหตุ คนที่มีอาชีพเสี่ยงเป็นโรคไตได้มากกว่าคนทั่วไป เช่น นักมวยที่อาจถูกเตะต่อยบริเวณไต รวมทั้งคนที่ทำงานในโรงงานก็อาจได้รับสารพิษสะสมในไตมาเป็นเวลานาน อาจมาจากทั้งจากการสูดดม และสัมผัส

ผู้ที่เสี่ยงเป็นโรคไต

1. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

2. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

3. ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป

4. ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคไต

5. ผู้ป่วยโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ

6. ผู้ที่มีน้ำหนักแรกคลอดต่ำ น้อยกว่า 2,500 กรัม

7. ผู้ป่วยโรคเนื้องอกในไต

8. ผู้ที่ได้รับสารพิษจากยาบางชนิด หรือสารแปลกปลอมอยู่เป็นประจำ หรือมากเกิน

9. ผู้ป่วยโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

10. ผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง

จากปัจจัยเสี่ยงทั้ง 10 ข้อ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงเป็น 2 โรคสำคัญที่นำไปสู่การเกิดโรคไตเรื้อรังได้บ่อยที่สุด

การตรวจเพื่อดูความผิดปกติของไต

1. ตรวจปัสสาวะ การตรวจปัสสาวะเป็นการตรวจขั้นต้นที่สำคัญในการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ของทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคนิ่ว โรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ กรวยไตอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และโรคไตอื่น ๆ สิ่งที่ตรวจหาคือโปรตีนรั่วหรือไข่ขาวรั่ว เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค และนำปัสสาวะไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อส่องหาเม็ดเลือดแดง และตะกอนต่าง ๆ

2. ตรวจเลือด อาจพบมีระดับของเสียเพิ่มขึ้น เช่น ค่ายูเรียในรูปของ BUN (Blood urea nitrogen : เป็นการวัดปริมาณไนโตรเจนที่พบในกระแสเลือด ตัวยูเรียนี้เป็นเศษของเหลือจากการเผาผลาญโปรตีนที่ตับ ซึ่งต้องถูกกำจัดทิ้งที่ไต หากไตไม่สามารถกำจัดของเสียหรือยูเรียได้ จะพบปริมาณไนโตรเจนในรูปของยูเรียมีปริมาณสูง ค่าปกติคือ 8-20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) และครีอะตินีน (Creatinine : ซึ่งแปลว่าเศษเหลือจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ และถูกขับออกทางไต เมื่อไตเสื่อมจึงมีค่านี้สูง ค่าปกติในผู้ใหญ่ คือ 0.7-1.3 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร) ซึ่งจะขึ้นกับ อายุ เพศ และน้ำหนักด้วย 

3. การตรวจทางรังสีหรืออัลตร้าซาวน์ เพื่อตรวจดูความผิดปกติของเนื้อไต ขนาดไต หรือดูการอุดกั้นในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น 

4. หาอัตราการกรองของไตโดยการคำนวณหาอัตราการกรองของไตในหนึ่งนาทีเรียกจีเอฟอาร์ (GFR : Glomerular filtration rate) คืออัตราการไหลของเลือดผ่านตัวกรองของไตในหนึ่งนาที ค่านี้คำนวณจากค่าครีอะตินีนกับอายุ คนปกติค่า GFR เท่ากับ 125 มิลลิลิตรต่อนาที หมายถึงไตสามารถกรองได้ปริมาตร 125 มล./นาที เป็นตัวบอกระดับความรุนแรงของโรคไตเรื้อรัง ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 GFR  ≥ 90 มล./นาที (ไตเริ่มเสื่อม แต่อัตราการกรองยังปกติดี)

ระยะที่ 2 GFR 60-89 มล./นาที (ไตเริ่มเสื่อม อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย)

ระยะที่ 3 GFR 30-59 มล./นาที (อัตราการกรองลดลงปานกลาง)

ระยะที่ 4 GFR 15-29 มล./นาที (อัตราการกรองลดลงมาก)

ระยะที่ 5 GFR < 15 มล./นาที (ไตวาย ต้องฟอกไต)

สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป การตรวจเลือดอาจพบว่าค่า creatinine ปกติแต่ค่า GFR จะต่ำจึงอาจจะต้องตรวจด้วยการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจหา โปรตีน น้ำตาล เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว รั่วออกมากับปัสสาวะหรือไม่ มากหรือน้อยเพียงใด

รายงานการวิจัยถั่งเช่ากับโรคไต

ถั่งเช่าได้ถูกกล่าวขานมาแต่โบราณในด้านสรรพคุณที่สามารถบำรุงไต แต่การค้นพบในปัจจุบันมีกว้างขวางกว่านั้นมาก เพราะว่าถั่งเช่าช่วยให้ไตมีสุขภาพดีขึ้นได้ถึงแม้จะล้มเหลวไปแล้ว ในบรรดาอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ไตเป็นอวัยวะที่บ่งบอกถึงสุขภาพของร่างกายได้ดีหากไตเริ่มเสื่อมอาการที่แสดงออกมีมากมาย เช่น เหนื่อยล้าไม่มีแรง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ปวดข้อและหลัง อาการมีเสียงในหู เป็นต้น ถั่งเช่าสามารถช่วยรักษาสมดุลของไต ทำให้ไตมีสุขภาพดีได้ เนื่องจากช่วยเพิ่มระดับของ 17-Hydroxy-corticosteroid และ 17-Ketosteroid (Zhu และคณะ 1998) ถั่งเช่าได้ถูกนำมาใช้สำหรับการรักษาโรคไตต่างๆ เช่น โรคไตอักเสบเรื้อรัง กรวยไตอักเสบเรื้อรัง ความผิดปกติของไตเรื้อรังหรือไตล้มเหลว และโรคเนฟริติก (nephritic syndrome เป็นโรคไตอักเสบชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ร่างกายมีการสูญเสียโปรตีนออกมาทางปัสสาวะ เนื่องจากความผิดปกติของกรวยไต ผู้ป่วยจะมีอาการบวมทั้งตัวแต่ไม่มีไข้) (Feng และคณะ 2008)

ภาวะไตวายเรื้อรังเป็นโรคร้ายแรงโรคหนึ่งซึ่งมักพบในคนสูงวัย ในการศึกษาให้คนที่มีปัญหาไตวายเรื้อรังจำนวน 51 คน รับประทานถั่งเช่า 3-5 กรัมต่อวัน พบว่าการทำงานของไตดีขึ้น ภูมิคุ้มกันโดยรวมของคนไข้ดีขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ทานถั่งเช่า (Guan และคณะ 1992)

คนไข้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังหรือไตเสื่อมมักมีปัญหาที่ตามมาคือ ความดันโลหิตสูง โปรตีนสูงในปัสสาวะและโลหิตจาง จากการศึกษาให้คนที่มีปัญหาไตวายเรื้อรัง รับประทานถั่งเช่าเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าความดันโลหิตลดลง 15% อาการของโปรตีนสูงในปัสสาวะลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ SOD (Superoxide dismutase) การเพิ่มขึ้นของเอนไซม์ SOD มักพบควบคู่กับการลดลงของ Serum lipoperoxide ซึ่งบ่งบอกถึงการเพิ่มขึ้นของสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดการถูกทำลายของเซลล์ไต (Jiang และ Gao 1995)

อีกการทดลองหนึ่งได้ทำในโรงพยาบาลกับคนไข้ 57 คน ที่ไตบกพร่องจากการได้รับยาปฏิชีวนะเจ็นต้าไมซิน (Gentamicin) โดยให้คนไข้รับประทานถั่งเช่า 4.5 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 6 วัน เปรียบเทียบกับวิธีอื่นๆ กลุ่มทดลองที่ได้รับประทานถั่งเช่ามีการทำงานของไตดีขึ้นถึง 89% ของการทำงานที่เป็นปกติ ขณะที่กลุ่มควบคุม (ไม่ได้รับถั่งเช่า) มีอาการดีขึ้น 45% ของการทำงานที่เป็นปกติและระยะเวลาที่ไตทำงานได้ดีขึ้นก็เร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นี่เป็นเพียง 2-3 ตัวอย่างจากการทดลองมากมาย ซึ่งสามารถยืนยันได้ว่าถั่งเช่าช่วยดำรงไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีของไต ทำให้ไตที่เป็นโรคหรือถูกทำลายกลับมาทำงานได้ดีขึ้นมาก

ถั่งเช่ายังช่วยเพิ่มการสังเคราะห์ดีเอ็นเอในเซลล์เยื่อบุผิวรูปทรงสูงของท่อไตในหนูทดลอง (Tian และคณะ 1991) และยังช่วยปกป้องเซลล์ที่เป็นหน่วยย่อยของท่อขดส่วนต้น จากพิษของยาปฏิชีวนะเจ็นตาไมซิน กลไกที่เกิดขึ้นคือช่วยการป้องกันการดูดกลับเกลือโซเดียมคลอไรด์และสารอาหารบางชนิด เช่น กรดอะมิโนและกลูโคส ช่วยลดการเกิด Lipid peroxidation (คือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อ อนุมูลอิสระทำปฏิกิริยากับกรดไขมันไม่อิ่มตัวในผนังเซลล์เกิดเป็น lipid peroxide ซึ่งจะเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากชั้นในของเยื่อหุ้มเซลล์ขึ้นมาอยู่บนผิวของเยื่อหุ้มเซลล์และเกิดการทำลายเยื่อหุ้มเซลล์) (Zhen และคณะ 1992 ; Li และคณะ 1996) ถั่งเช่ายังปกป้องไตของหนูทดลองที่ถูกชักนำจากยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ให้เกิดโรคไตวายเฉียบพลัน (ยาที่ถูกนำมาใช้กดภูมิคุ้มกันฯ ในการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อป้องกันการปฏิเสธสิ่งปลูกถ่ายในผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ) ทำให้ไตของหนูทดลองมีการกรองของเสียที่ดีขึ้นและลดความเสียหายของไต (Zhao และ Li 1993) ซึ่งสอดคล้องในผู้รับการปลูกถ่ายไตที่ทดลองโดย Xu และคณะ (1995) ในปี ค.ศ. 1994 Bao และคณะ ได้รายงานผลการทดลองว่าถั่งเช่าช่วยป้องกันไตของผู้ป่วยที่ถูกทำลายจากความเป็นพิษของยา Amikacin sulphate โดยตรวจเช็คจากค่าเอนไซม์ Nephroaminoglycosidase และ Macroglobulin ในปัสสาวะ

สารสกัดถั่งเช่าช่วยปรับปรุงให้การทำงานของไตดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญผ่านทางกิจกรรมช่วยทำให้เซลล์แข็งแรงไม่เสื่อมสภาพง่ายและต้านการอักเสบ ซึ่งเป็นผลจากการผ่าตัดเปลี่ยนไตในหนูซึ่งผ่านการขาดเลือด 60 นาทีและเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อจากการขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอต่ออีก 3 วัน (Shahed และคณะ 2001) อีกกลไกหนึ่งที่ถั่งเช่าช่วยปกป้องไตมาจากผลการยับยั้งต่อการเพิ่มจำนวนเซลล์ Mesangial (ต่อมน้ำเหลืองบริเวณ Glomerulus บริเวณที่กรองเลือดขั้นแรก อยู่ที่จุดเริ่มต้นของหน่วยไต) หากเส้นโลหิตที่ไตตีบจะทำให้เกิดการเพิ่มของเซลล์ Mesangial ที่จะส่งผลให้คุณสมบัติของความเป็นเซลล์กล้ามเนื้อเรียบถูกขัดขวางจากการทดลองใช้ถั่งเช่าที่ความเข้มข้น 100 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ทำให้เซลล์ Mesangial ในมนุษย์ที่กระตุ้นด้วย LDL (Low-density lipoprotein) เพื่อให้เซลล์เพิ่มขนาด มีขนาดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (Wu และคณะ 2000) ทำให้เป็นอันตรายต่อไตน้อยลง นอกจากนี้ถั่งเช่ายังสามารถปกป้องไตจากยา Cyclosporine A – ที่เหนี่ยวนำให้เกิดพิษต่อไตเรื้อรัง โดยการช่วยลดค่ายูเรียไนโตรเจนในเลือดให้ต่ำลง (BUN) ลดอาการบวมน้ำ และลดการเกิดพังผืด และลดการตายเฉพาะส่วนของเซลล์ไต (Wojcikowski และคณะ 2006)

นอกจากนี้สารสกัดโดยใช้น้ำของถั่งเช่ายังช่วยในการลดกิจกรรมการทำงานของเอนไซม์ที่มากเกินไปในเซลล์ท่อไต (Ng และ Wang 2005; Li และ Yang 2008a) และยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ในหนูที่มีปัญหาไตวายเรื้อรังด้วย (Cheng 1992)

การทดลองทางการแพทย์ได้แสดงให้เห็นหลักฐานบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ถั่งเช่าเป็นยาป้องกันและรักษาไต (Wojcikowski และคณะ 2004, 2006) ตัวอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยถั่งเช่าช่วยให้คนที่ได้รับการปลูกถ่ายไตมีอาการดีขึ้นจากการที่ร่างกายปฏิเสธการปลูกถ่ายไต การทำงานของไตและตับดีขึ้นควบคุมมิให้โปรตีนในเลือดต่ำและไขมันในเลือดสูง การกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดที่ไขสันหลังและลดการติดเชื้อในผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไต (Sun และคณะ 2004; Li และคณะ 2009) ในผู้ป่วยที่มีภาวะไตวายเรื้อรังที่บริโภคผลิตภัณฑ์ถั่งเช่ามีการทำงานของไตดีขึ้น มีค่า BUN และ creatinine ลดลง ขณะที่ค่าโปรตีนในเลือดและแคลเซียมเพิ่มขึ้น (Feng และคณะ 2008)

ภาวะไตอักเสบยังพบได้บ่อยในโรคลูปัส 

ผลของถั่งเช่าต่อคนไข้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ

มีการศึกษาในคนไข้ที่เป็นโรคไต 69 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม พบว่ากลุ่มที่รับประทานถั่งเช่า 3 กรัมต่อวันร่วมกับยา cyclosporin (เป็นยาที่สกัดจากเชื้อรา Tolypocladium ในประเทศนอร์เวย์ ซึ่งใช้เป็นยาสำหรับป้องกันการปฏิเสธอวัยวะใหม่) เป็นเวลา 15 วัน ปรากฏว่าไตเสียหายน้อยกว่ากลุ่มที่รับเฉพาะยา Cyclosporin ซึ่งวัดได้จากค่า NAS ในปัสสาวะ คลีเอตินิน (Creatinine) และยูเรีย ไนโตรเจนในเลือด (Xu และคณะ 1995)

ถั่งเช่ากับโรคมะเร็ง

มะเร็ง หรือทางการแพทย์เรียกว่า เนื้องอกร้าย (Malignant tumor) เป็นกลุ่มของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติคือ เซลล์จะแบ่งตัวและเจริญเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ ก่อเป็นเนื้องอกร้าย และมีศักยภาพในการรุกรานเซลล์ที่อยู่ข้างเคียง มะเร็งอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะส่วนที่อยู่ห่างไกลได้โดยแพร่ไปกับระบบน้ำเหลืองหรือกระแสเลือด อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าเนื้องอกทุกชนิดจะต้องเป็นมะเร็ง เพราะเนื้องอกชนิดไม่ร้ายจะไม่ลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียงและไม่กระจายไปทั่วร่างกาย อาการแสดงออกของโรคมะเร็งที่เป็นไปได้ รวมถึงการมีก้อนเนื้อเกิดใหม่ มีเลือดออกผิดปกติ มีการไอเรื้อรัง การสูญเสียน้ำหนักโดยอธิบายไม่ได้ และการเปลี่ยนแปลงในการขับถ่ายของลำไส้และอื่นๆ (อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาอื่นๆ ได้เช่นกัน) ปัจจุบันมีมะเร็งที่ส่งผลต่อมนุษย์ที่ทราบแล้วกว่า 100 ชนิด โรคมะเร็งเป็นสาเหตุสำคัญลำดับที่สองที่คร่าชีวิตคนทั่วโลก (Xiao และ Zhong 2007) ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 66,000 ราย โดยในผู้ชายพบมะเร็งปอดมากที่สุด 5,535 ราย รองลงมาคือโรคมะเร็งตับ ส่วนผู้หญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด 1,484 ราย รองลงมาคือ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม

สาเหตุของมะเร็งนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซับซ้อนและเข้าใจเพียงบางส่วนเท่านั้น มีหลายปัจจัยที่ทราบแล้วว่าเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้แก่ การสูบบุหรี่ (อัตราการตาย 22%) ปัจจัยด้านอาหาร การไม่ออกกำลังกาย โรคอ้วน และการดื่มแอลกอฮอล์ (อัตราการตายรวมกัน 10%) นอกเหนือจากนั้นเป็นการติดเชื้อบางอย่าง การสัมผัสรังสีและมลภาวะสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเกือบ 20% ของโรคมะเร็งเกิดจากการติดเชื้อ เช่น โรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดบี ไวรัสชนิดซี และไวรัสชนิด papillomavirus โดยทั่วไปก่อนที่มะเร็งจะพัฒนาขึ้น การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างของยีนจะเกิดขึ้นก่อน ประมาณ 5-10% ของมะเร็งเกิดจากการติดเชื้อทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ปัจจัยเหล่านี้สามารถทำให้ยีนเสียหายโดยตรง หรืออาจประกอบกับความบกพร่องทางพันธุกรรม ที่มีอยู่เดิมในเซลล์ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นมะเร็งได้

ในปัจจุบันการรักษามะเร็งชนิดต่าง ๆ มีวิธีการที่เป็นหลักการสำคัญอยู่ 4 วิธี คือ การผ่าตัด การใช้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษาและการเปลี่ยนถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (ซึ่งวิธีหลังสุดนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง) เนื่องจากข้อจำกัดของการผ่าตัด และผลข้างเคียงจากรังสีรักษาและเคมีบำบัด ทำให้มีความสนใจในการพัฒนายาต้านมะเร็งที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าถั่งเช่าไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือการเพาะเลี้ยงล้วนมีกิจกรรมต้านโรคมะเร็งต่างๆ ผ่านหลายวิธีการ (Feng และคณะ 2008 ; Zhou และคณะ 2009 a)

การป้องกันผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา

ถั่งเช่ากับคีโม

ในความเป็นจริงแล้ว ความรู้ที่ว่าถั่งเช่า มีประสิทธิภาพในการต้านโรคมะเร็งนั้นเป็นที่ทราบกันในประเทศทางตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เพราะมีการรับประทานถั่งเช่าและเห็ดอื่นๆ กันอย่างแพร่หลายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันอันเป็นทางเลือกในการรักษาเพราะมีสารโพลีแซคคาไรด์ ภูมิคุ้มกันที่สร้างขึ้นนี้ สามารถลดความรุนแรงและลดเวลาที่เกิดผลข้างเคียงอันเกิดจากการรักษาทางเคมีหรือฉายรังสี (Wang และคณะ 2001) (Xu และคณะ 1988)

ถั่งเช่าช่วยลดข้อจำกัดของเคมีบำบัดและรังสีรักษา

ผลรับที่สำคัญที่สุดจากการรักษาโรคมะเร็งโดยยาเคมีก็คือ การทำลายระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้นั้นเอง คนไข้ที่รักษาโดยยาเคมีจะได้รับการตรวจเช็คเม็ดเลือดขาว ในช่วงที่ทำการรักษาปริมาณยาเคมีที่จะให้คนไข้ และโปรแกรมการให้ยาเคมีจะถูกปรับเพื่อให้คนไข้มีโอกาสที่จะสร้างภูมิคุ้มกันเพียงพอ เพื่อที่จะรับยาเคมีที่เป็นพิษในครั้งถัดไปได้อีก และหวังว่ายาเคมีจะฆ่าเซลล์มะเร็งได้เร็วกว่าเซลล์ปกติ โดยปกติเม็ดเลือดขาวจะมีความอ่อนแอต่อยาเคมีที่ใช้รักษาโรคมะเร็งโดยเซลล์เม็ดเลือดขาวจะตายเร็วกว่าเซลล์อื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของเนื้อเยื่อที่ยังเป็นปกติอยู่ ซึ่งเป็นที่มาของภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ลดลง เนื่องจากเม็ดเลือดขาวเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

หากคนไข้มีภูมิคุ้มกันที่ดี จะทำให้อัตราการใช้ยาเคมีเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นเวลาที่ใช้ในการรักษาจะลดลง ซึ่งหมายถึงการรักษาทางเคมีเพิ่มประสิทธิผลขึ้น นี่คือเหตุผลที่ถั่งเช่าสามารถใช้เป็นตัวช่วยทำให้การรักษาโรคมะเร็งเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น

การที่ถั่งเช่าช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาโดยเคมีบำบัดและฉายแสง ก็เนื่องมาจากความแข็งแรงของคนไข้ที่เมื่อบริโภคถั่งเช่าแล้วจะช่วยกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด เพิ่มความแข็งแรงขึ้นมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนไข้ที่ได้รับการรักษาโดยวิธีเดียวกันแต่ไม่ได้รับถั่งเช่า

ในการทดสอบ ให้หนูที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง กินถั่งเช่าสกัดด้วยน้ำร้อนใน อัตรา 50 มก./กก./วัน พบว่าอายุของหนูยืนยาวขึ้น นอกจากนั้นหนูที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองกลุ่มที่ได้รับการรักษาทางเคมีโดยใช้ยา Cyclophosphamide และถั่งเช่าปรากฏว่าผลของการทำหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันมิได้ลดลง ต่างจากกลุ่มที่ได้รับยาอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยวัดจากการตอบสนองต่อค่า IgM และ IgG (Immunoglobulin มีทั้งหมด 5 กลุ่ม คือ IgG, IgA, IgM, IgD, IgE ทำหน้าที่จับติดกับ antigen แล้วทำลายด้วยวิธีต่าง ๆ ที่สลับซับซ้อน) ส่วนใหญ่ภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต เพราะมีเซลล์ที่แปรสภาพเป็นเซลล์ความจำ ทำหน้าที่จำเชื้อที่เคยพบแล้ว เมื่อเชื้อชนิดเดิมเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง เซลล์ความจำก็จะระดมกำลังพลเพื่อสร้าง Immunoglobulin ออกมาในปริมาณมากทันทีภายในสัปดาห์แรกที่ติดเชื้อ จึงสามารถกำจัดเชื้อโรคออกไปโดยไม่ทันก่อโรค

ถั่งเช่ากับโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานเกิดจากการทำงานของ “ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin)” ในร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้อินซูลินซึ่งมีหน้าที่นำน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์ต่าง ๆ เพื่อไปใช้เป็นพลังงาน ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและเกิดการคั่งของน้ำตาลในเส้นเลือดแดงส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ เสื่อมซึ่งอาการนี้ถ้าเป็นรุนแรงจะส่งผลให้เกิดโรคและอาการแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่าง ๆ ได้ เช่น ตาบอด โรคไตวาย และโรคทางระบบประสาท เป็นต้น นอกจากนี้คนเป็นเบาหวานมักจะเสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย ความดันสูง ระดับไขมันสูง ถือว่าเป็นโรคที่คนไทยป่วยกันมาก เป็นโรคยอดฮิต 1 ใน 10 ของโรคที่คุกคามคนไทยมากที่สุด พบได้ทุกวัยและยังมีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี เป็นโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต 4% ต่อปี โรคเบาหวานเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น อาหาร พฤติกรรม การใช้ชีวิต การออกกำลังกาย กรรมพันธุ์ เป็นต้น โรคเบาหวานเป็นโรคที่เป็นกันมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่นิยมรับประทานอาหารแบบประเทศตะวันตก ในประเทศสหรัฐอเมริกามีคนที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่ถึง 25 ล้านคน และเป็นปัญหาสุขภาพหนึ่งที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงมาก มีการสำรวจพบว่าทั่วโลกมีคนที่เป็นเบาหวานสูงถึง 350 ล้านคน อีกโรคหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานคือโรคติดสุรา คนที่ติดสุรามีแนวโน้มสูงมากที่จะเป็นโรคเบาหวานตามมา เป็นไปได้ที่สุราทำให้เมตาบอลิซึมของน้ำตาลในเลือดผิดปกติไป หรือคนที่เมตาบอลิซึมของน้ำตาลในเลือดผิดปกติมีแนวโน้มที่จะติดสุรา ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ไม่ชัดเจนแต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด ถั่งเช่าสามารถช่วยได้ทั้งผู้เป็นเบาหวานหรือติดสุรา

โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 2 ชนิด 

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 มักจะเป็นตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอ เนื่องจากเบตาเซลล์ (Beta cells) ของตับอ่อนถูกทำลายด้วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย คนไข้ชนิดนี้มีประมาณ 10% ของคนที่เป็นเบาหวานทั้งหมด ซึ่งจะต้องได้รับอินซูลินไปตลอดชีวิต

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งพบในคนที่เป็นส่วนใหญ่ถึง 90% เกิดจากหลายสาเหตุรวมกันได้แก่ ตับ กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และความผิดปกติเกี่ยวกับการหลั่งอินซูลินของตับอ่อน ส่วนอะไรเป็นสาเหตุหลักยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยต้องมีการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีอย่างต่อเนื่องและต้องใช้ยาชนิดกินหรือใช้อินซูลินชนิดฉีด

รายงานการวิจัยถั่งเช่ากับโรคเบาหวาน

มีงานวิจัยในสัตว์ทดลองและมนุษย์พบว่าถั่งเช่ามีศักยภาพในการปรับน้ำตาลในเลือดได้ดี มีการทดลองให้คนที่เป็นโรคเบาหวานรับประทานถั่งเช่าในอัตรา 3 กรัมต่อวัน พบว่า 95% ของคนไข้ มีข้อมูลโดยรวมของระดับน้ำตาลที่ดีขึ้น ขณะที่กลุ่มควบคุมที่ใช้วิธีการรักษาอื่นมีข้อมูลโดยรวมของระดับน้ำตาลที่ดีขึ้น เพียง 54% (Guo และ Zhang 1995)

สารโพลีแซคคาร์ไรด์ในถั่งเช่าช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองที่สูงขึ้นได้ (Kiho และคณะ 1996) ได้มีงานวิจัยในสัตว์ทดลองที่ไม่เป็นโรค พบว่าถั่งเช่าช่วยเพิ่มเมตาบอลิซึมของน้ำตาลในเลือดและมีการตอบสนองต่อการสร้างอินซูลินที่เร็วขึ้น (Zhao และคณะ 2002) และช่วยทำให้สัตว์ทดลองที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 มีระดับน้ำตาลลดลง (Kiho และคณะ 2000) นอกจากนั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเมตาบอลิซึมในการคุมระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่ถูกชักนำให้เป็นเบาหวานโดยสารเคมี (Tai-Hao และ Hui-Chen 2002) โดยรวมแล้วถั่งเช่าช่วยเพิ่มการตอบสนองต่อการสร้างอินซูลิน

ถั่งเช่าออกฤทธิ์ลดน้ำตาลในสัตว์ปกติได้ การทดสอบให้หนูกินสารสกัดจากถั่งเช่าในอัตรา 2 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน เป็นเวลา 25 วัน พบว่าการทำงานของอินซูลินเพิ่มการตอบสนองขึ้น ซึ่งสารสกัดจากถั่งเช่ามีประโยชน์ในการดำรงการกำจัดกลูโคสของร่างกาย โดยการหลั่งอินซูลินที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าอย่างเด่นชัดเมื่อเปรียบเทียบกับหนูที่ไม่ได้กิน (Balon และคณะ 2002)

ในอีกหนึ่งการศึกษากับหนูปกติที่เลี้ยงด้วยถั่งเช่าในอัตรา 250 หรือ 500 มก./กก./วันเป็นเวลา 17 วัน พบว่ามีการลดลงของระดับน้ำตาลในเลือด 27% และ 24% ตามลำดับ (โดยการเจาะน้ำตาลหลังอดอาหาร 8 ชั่วโมง) และพบว่าเมื่อวัดค่าที่ประเมินความไวต่ออินซูลินในเลือด (Fasting plasma insulin) ของหนูกลุ่มที่เลี้ยงด้วยถั่งเช่า 500 มก./กก./วัน ลดลง 37% นอกจากนี้การทดสอบความทนทานต่อกลูโคส หลังจากให้หนูทดลองกินกลูโคสที่ 0.5, 1.0 และ 2.0 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าสารสกัดถั่งเช่าทำให้ความทนทานต่อการบริโภคน้ำตาลกลูโคสดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (Zhao และคณะ 2002)

ถั่งเช่ายังช่วยลดน้ำตาลในสัตว์ที่เป็นโรคเบาหวาน ถึงแม้ว่าการให้หนูกินเส้นใยจากถั่งเช่าธรรมชาติในอัตรา 4 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน จะไม่มีผลต่อระดับอินซูลินในหนูที่เป็นโรคเบาหวาน (Lo และคณะ 2004) แต่ทว่าน้ำหนักของหนูเพิ่มขึ้น และลดการดื่มน้ำลง (ทดลอง 15 วัน) วัดระดับน้ำตาลในเลือด (ทดลอง 12 วัน) และความเข้มข้นของซีรุ่ม Fructosamine ซึ่งเป็นการวัดระดับโปรตีนในเลือดที่มีน้ำตาลเกาะ (วัดที่ 15 วัน) ในหนูที่เป็นโรคเบาหวานเส้นใยจากถั่งเช่ายังทำให้น้ำหนักของต่อมไธมัสเพิ่มขึ้น (โดยปกติน้ำหนักของต่อมไธมัสจะสูงสุดเมื่อวัยเริ่มหนุ่มสาว จากนั้นจะลดลงเรื่อยๆ) และความทนทานต่อกลูโคสดีขึ้น (Lo และคณะ 2004, 2006) ที่น่าสนใจคือส่วนของดอกเห็ดที่ออกจากตัวหนอน (มิใช่ตัวหนอน) มีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง และการเพิ่มน้ำหนักของต่อมไธมัส (Lo และคณะ 2004)

อย่างไรก็ตามเส้นใยที่ได้จากการเพาะเลี้ยงและอาหารที่ได้จากการเพาะเลี้ยงถั่งเช่ามีผลในการลดน้ำตาลเช่นเดียวกับดอกเห็ดถั่งเช่าจากธรรมชาติในหนูที่ถูกชักนำให้เป็นโรคเบาหวานโดยใช้ยา Nicotinamide และ Streptozotocin (Lo และคณะ 2006) ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าจากการเพาะเลี้ยง สามารถที่จะพัฒนาเป็นสารต้านหรือเป็นอาหารทางเลือกที่มีศักยภาพสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานหรือสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคเบาหวาน

มีหลักฐานบางประการที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการเผาผลาญน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานที่บริโภคถั่งเช่าเป็นประจำ ซึ่งช่วยให้สามารถลดปริมาณยากินหรือฉีด นอกจากนี้ยังพบว่าในถั่งเช่ายังมีสารต้านไวรัสตามธรรมชาติ คือ 2’,3’-dideoxyadenosine ซึ่งจะส่งผลให้คนไข้ที่ต้องใช้ยาต้านไวรัสลดปริมาณยาต้านไวรัสลงได้ เนื่องจากประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นของยาต้านไวรัสจากถั่งเช่า สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเบาหวานและไวรัสพร้อมกัน (2’,3’-Dideoxyadenosine เป็นสารยับยั้งการเพิ่มจำนวน Adenine Nucleosides และ โปรตีน Nucleotides ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไวรัส)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *